สอบใบขับขี่ รถยนต์ครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไร
มิถุนายน 12, 2022 • Metinee Pue • ยังไม่มีหมวด
— views
ใบอนุญาตขับรถหรือใบขับขี่ คือ เครื่องยืนยันว่าเรามีศักยภาพพอจะขับขี่รถบนท้องถนนได้ตามกฎหมาย หากขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครมีแพลน สอบใบขับขี่ รถยนต์ครั้งแรก นี่คือวิธีเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยให้สอบใบขับขี่รถยนต์ครั้งแรกได้อย่างผ่านฉลุย
คุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถทำใบขับขี่รถยนต์ได้
ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป, มีความรู้ ความสามารถในการขับรถ, รู้กฎหมายจราจรทางบก, สามารถขับรถได้ ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการ, ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอันตรายต่อการขับรถ, ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน, ไม่เคยมีใบขับขี่ชนิดเดียวกันอยู่แล้ว, ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่
สอบใบขับขี่ รถยนต์ครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไร
1. เตรียมความพร้อมในการสอบ
สำหรับการสอบใบขับขี่รถยนต์ครั้งแรก มีการทดสอบทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย, การสอบข้อเขียน และการสอบปฏิบัติ ควรหมั่นอ่านตัวอย่างข้อสอบ ฝึกฝนการขับรถให้สามารถทำท่าที่สอบได้อย่างคล่องแคล่ว
การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ได้แก่
1) ทดสอบการมองเห็นสี (เขียว เหลือง แดง) การทดสอบนี้จะเป็นการทดสอบเพื่อเช็คสมรรถนะการแยกแยะสี ด้วยการมองเห็นโดยผู้ทดสอบจะใช้บอร์ดที่มีสีแทรบกันอยู่ (หาตัวอย่างได้จากเว็บไซต์ต่างๆ) และชี้ให้ผู้ทดสอบขานสีที่เห็น เพื่อตรวจสอบความสามารถ
2) ทดสอบสายตาทางลึก เป็นการทดสอบเพื่อวัดความสามารถการมองเห็นในทางลึกของตาทั้งสองข้าง ด้วยการปรับให้หลักที่เคลื่อนที่ (หลัก A) หยุดข้างๆ หลักที่หยุดนิ่ง (หลัก B) พอดี ด้วยการใช้รีโมทปรับการเคลื่อนที่ของหลัก
3) ทดสอบสายตาทางกว้าง เป็นการทดสอบเพื่อวัดสมรรถนะการมองเห็นในมุมกว้างสุดที่สายตามองเห็น การทดสอบนี้บางที่จะมีเครื่องทดสอบ โดยผู้คุมสอบจะยื่นป้ายมาที่มุมสายตา และให้ผู้สอบขานสีที่เห็นจากมุมสายตา
4) ทดสอบปฏิกิริยาเท้า โดยการเหยียบเบรกหลังเห็นไฟสัญญาณ เป็นการทดสอบปฏิกริยาการตอบสนองของสายตา และปฏิกริยาความไวของเท้า โดยผู้ทดสอบจะต้องเหยียบตำแหน่งคันเร่งจำลอง เพื่อรอสัญญาณการเบรกเมื่อสัญญาณเปลี่ยนเป็นสีแดง ให้เปลี่ยนการเหยียบคันเป็นเบรกทันทีผ่านในเวลาที่กำหนด
2. สอบข้อเขียนด้วยคอมพิวเตอร์ ผ่านระบบ Electronic Examination (E-exam)
ข้อสอบมีจำนวน 50 ข้อ จะต้องตอบให้ถูกอย่างน้อย 90% หรือ 45 ข้อ หากไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องมาสอบใหม่ในวันถัดไป หรือไม่เกิน 90 วันหลังอบรม สำหรับเนื้อหาที่ใช้สอบจะครอบคลุมการใช้รถ และถนน เช่น กฎหมายว่าด้วยรถยนต์และจราจรทางบก, เครื่องหมายพื้นทาง, ป้ายเตือน, มารยาทและจิตสำนึก, เทคนิคการขับรถอย่างปลอดภัย, การบำรุงรักษารถ แนะนำให้ลองหาแบบทดสอบออนไลน์มาฝึกทำบ่อยๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามสอบจริง
3. การสอบปฏิบัติ ซึ่งขั้นตอนการสอบใบขับขี่รถยนต์ภาคปฏิบัติ
มีด้วยกัน 3 ท่าดังนี้
- ท่าที่ 1 ขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง
ขับรถตรง ๆ เป็นระยะทาง 12 เมตร โดยต้องขับเดินหน้า 1 ครั้ง ถอยหลัง 1 ครั้ง ห้ามชนหรือเบียดเสาเด็ดขาด
- ท่าที่ 2 ขับรถเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า
ต้องจอดเทียบห่างจากขอบทางได้ไม่เกิน 25 เซนติเมตร ห้ามให้ล้อเบียดขอบฟุตบาท ห้ามเหยียบเส้นด้านข้าง และกันชนรถต้องไม่เกินเส้นหยุดรถด้านหน้าและห่างได้ไม่เกิน 1 เมตร
- ท่าที่ 3 ขับรถถอยเข้าซอง
คล้ายกับการจอดเทียบข้างทาง เพียงแต่ว่าช่องที่ต้องเข้าจอดเป็นช่องสี่เหลี่ยม มีเสาล้อมรอบและมีช่องว่างกว้างกว่ารถเพียงเล็กน้อย ต้องขับเข้าช่องนั้นให้ได้ โดยเปลี่ยนเกียร์ได้ไม่เกิน 7 ครั้ง ห้ามชนหรือเบียดเสาเด็ดขาด เมื่อจอดสำเร็จ กระจกมองข้างต้องไม่ล้ำออกนอกเส้นที่กำหนด
เตรียมเอกสารที่ต้องใช้
เอกสารที่ต้องใช้ในการสอบใบขับขี่รถยนต์ครั้งแรก ได้แก่
1) บัตรประชาชนตัวจริง ซึ่งจะต้องใช้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ และการสอบข้อเขียน
2) ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 1 เดือน เพื่อความถูกต้องแนะนำให้แจ้งกับสถานพยาบาลให้ชัดเจนว่า ขอใบรับรองแพทย์สำหรับประกอบการขอรับใบขับขี่ เพื่อจะได้มีข้อมูลการตรวจที่ครบถ้วนสมบูรณ์
ค่าธรรมเนียม ทำใบขับขี่
สำหรับค่าธรรมเนียมในการสอบใบขับขี่ครั้งแรก ในส่วนของรถยนต์มีค่าธรรมเนียม 205 บาท แบ่งเป็น ค่าทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 200 บาท และค่าคำขอ 5 บาท
จองคิวต่อใบขับขี่ออนไลน์
จองคิวสอบใบขับขี่ รถยนต์ล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ gecc.dlt.go.th หรือ แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการทำใบขับขี่ ที่สำคัญอย่าลืมบันทึกหน้าจอเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานขนส่ง
เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม
เพื่อการทดสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ความสามารถได้เต็มศักยภาพ ควรเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เสี่ยงในการเจ็บป่วย เช่น อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารรสจัด รวมถึงไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำใจให้สบาย ไม่เครียด คิดบวกเข้าไว้
เดินทางไปสอบใบขับขี่
อย่าลืมเผื่อเวลาให้มากเข้าไว้ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทำให้คุณไปถึงช้ากว่าเวลานัดหมายได้ เช่น รถติด มีอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งถ้าไม่ไปตามเวลาที่นัดหมาย ถือว่าสละสิทธิ์
เมื่อไปถึงสำนักงานขนส่งที่สะดวกตามวันนัด แสดงหลักฐานการจองคิวแก่เจ้าหน้าที่ โดยในวันที่ 1 จะมีขั้นตอน 4 ขั้นตอน ได้แก่
1) ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย (ตาบอดสี สายตากว้าง-ลึก ความไวเท้า)
2) การอบรมเพื่อสอบใบขับขี่สำหรับผู้ที่ทำครั้งแรก ซึ่งต้องไปอบรมที่สำนักงานเท่านั้น ไม่สามารถอบรมออนไลน์ได้ โดยระยะเวลาในการอบรมสอบใบขับขี่ใหม่ จะใช้เวลาอย่างน้อย 5 ชั่วโมง โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงเช้า (9.30 – 12.00 น.) และช่วงบ่าย (13.00 – 15.30 น.)
3) ทดสอบข้อเขียน โดยสอบข้อเขียนด้วยคอมพิวเตอร์ ผ่านระบบ Electronic Examination (E-exam) ข้อสอบมีจำนวน 50 ข้อ จะต้องตอบให้ถูกอย่างน้อย 90% หรือ 45 ข้อ หากไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดจะต้องมาสอบใหม่ในวันถัดไป หรือไม่เกิน 90 วันหลังอบรม
4) จองคิวสอบขับรถ โดยการสอบปฏิบัติจะต้องนัดหมายในวันอื่น
สำหรับวันที่ 2 จะมีขั้นตอน 2 ขั้นตอน ได้แก่
1) ทดสอบขับรถ ซึ่งขั้นตอนการสอบใบขับขี่รถยนต์ภาคปฏิบัติ มีด้วยกัน 3 ท่า ได้แก่ ท่าเดินหน้าและถอยหลัง, ท่าจอดรถเทียบทางเท้า, ท่าขับรถถอยเข้าซอง แนะนำให้นำรถของตัวเองไปใช้ทดสอบเพื่อความคุ้นชินและคล่องตัว แต่ถ้าไม่สะดวกทางกรมการขนส่งทางบกแต่ละพื้นที่ จะมีรถให้เช่าขับ โดยคิดราคาเช่ารอบละ 100 บาท มีให้เลือกทั้งสองแบบ ได้แก่ เกียร์ธรรมดา และเกียร์ออโต้ครับ สามารถติดต่อในบริเวณพื้นที่เช่ารถสอบได้เลย
2) ทำใบอนุญาต โดยการชำระค่าธรรมเนียมและถ่ายรูปพิมพ์ใบขับขี่
การเตรียมตัวที่ดี ย่อมส่งผลให้ผู้สอบใบขับขี่ครั้งแรกมีความพร้อมทั้งกายและใจ สามารถแสดงศักยภาพในการทดสอบต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ จึงมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่านการทดสอบได้ไม่มากก็น้อย ชัวร์ครับ เป็นห่วงทุกคนที่ใช้รถบนท้องถนน เพื่อความปลอดภัยที่มากขึ้น อย่าลืมทำประกันรถยนต์กันไว้ด้วยนะ ขับรถไร้กังวล สบายใจทั้งคนขับและคนนั่งข้างๆ ซื้อประกันรถยนต์ ให้ ชัวร์ครับ ดูแลทุกคนนะ